Thursday 18 February 2016

ข้อปฏิบัติ และกระบวนการในการใส่บาตรพระที่ถูกต้อง

ในการใส่บาตรพระ จริงๆ แล้วเรา "ชาวไทยพุทธ" มีประเพณีที่ปฏิบัติกันมาเป็นกิจกรรม ดิฉันผู้เขียนเอง ก็ยังไม่ทราบที่มาหรอกค่ะ (ยังไม่ได้ค้นคว้า) แต่มั่นใจว่ากระบวนการตามวิธีการตักบาตรนี้น่าจะยึดถือและนำมาปฏิบัติต่อไปอย่างถูกต้องสวยงาม ดีงาม ตามที่บรรพบุรุษยึดถือมานาน

น่าจะเป็นไปตามจารึกทางพุทธศาสนา และขณะนี้ รู้สึกว่า คนรุ่นใหม่ จะเริ่มหลงลืมกระบวนการที่ถูกต้อง ซึ่งเราก็มิใช่ว่าจะหลงเน้นแต่พิธีกรรม แต่มันเป็นพุทธะกริยาที่สมควรสืบทอดไว้ เป็นกิจกรรมที่อ่อนโยน ดูมีวัฒนธรรมตามจารีตประเพณีของชาวไทย หรือ ชาวเอเชียส่วนใหญ่ ซึ่งชนชาวแถบๆเอเซียเราจะทำได้สวย อ่อนช้อย ดูดี

ดังนั้นเราควรจะให้ลูกหลาน ได้เรียนรู้ หรือ ควรจะบรรจุไว้ในหนึ่งกิจกรรมที่โรงเรียนควรนำมาฝึกเยาวชนให้เข้าใจ พร้อมใจปฏิบัติ ลดทอนความกระด้าง กระโดกกระเดก จำได้ว่าผ่านมายุคสมัยหนึ่ง ในช่วงเวลาอายุของผู้เขียนนี่เอง ต้องยอมรับว่า ไม่ค่อยทราบกัน เพราะเราโตมาในยุค เทคโนโลยีเบ่งบาน วัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาเป็นเกณฑ์มาตรฐานกิจกรรม ทำให้จารีตเราดูงมงาย ไร้สาระ ... เสียดายสิ่งที่พ่อแม่ปู่ย่าสะสมมาจริงๆ ...

ในการตักบาตรนั้น นอกจากเราต้องเตรียมของใส่บาตร ตามความเชื่อว่า ต้องมี อาหาร น้ำ คาวหวาน ดอกไม้ธุปเทียนแล้ว แต่ดิฉันนั้น..พ่อแม่เคยสอนว่า มีอะไรจะใส่ ก็ใส่ได้ ตามความพร้อมเพราะเราตักทุกวันมากน้อยแต่ให้สม่ำเสมอมิให้ขาด อยากให้เราใส่บาตรทุกวัน เพราะพระเขาไม่สะสมอาหาร หมดแค่เที่ยงต่อวัน พระท่านเดินผ่านหน้าบ้านทุกวัน (ต้องตื่นเช้าเลยสิ) แต่ทุกวันน้ำนี่อย่าให้ขาด เพราะพระจะฉันแล้วติดคอ ดอกไม้ ก็เพื่อให้สวยชาติหน้า แต่จริงๆ คือ พระเขาไม่ให้เด็ดดอกไม้ จะมีดอกไม้ไปบูชาพระ ก็ต้องมีโยมตักบาตรถวายนี่แหละ แล้วดอกไม้ก็เหี่ยวทุกวัน ต้องเปลี่ยนทุกวัน ...จำติดใจ โดนปลูกฝังอย่างไรมา ก็ปฏิบัติตามนั้น ...



มาดูวิธีปฏิบัติ ตามที่พระอริยะโอวาท ว่าไว้ค่ะ ตามพุทธวจน ไปค้นๆ มา เพื่อให้พุทธสานิกชน ได้ดำเนินสืบทอดให้ยาวนาน มาเริ่มกระบวนการตักบาตรกันค่ะ

1. การนิมนต์พระ

เมื่อพระเดินมาบิณฑบาตร และ หลังจากพวกเราเตรียมอาหาร สำรับกับข้าวเรียบร้อยแล้ว เราก็ยืนรอพระ พอพระเดินมาถึงเรา เราก็ต้อง "นิมนต์ท่าน" การนิมนต์ ก็ควรใช้คำว่า "นิมนต์ครับ/นิมนต์ค่ะท่าน" แค่นี้ พระก็ทราบแล้วว่าโยมจะตักบาตร  ไม่ต้องใช้คำนิมนต์ให้ยากอะไรนัก "ท่านเจ้าประคุณเจ้าคะ นิมนต์เจ้าค่ะ" อันนี้ ก็ไฮโซไปนะคะ หรือ "นิมนต์เจ้าค่ะ พระอาจารย์" พระอาจสะดุ้งได้ หากท่านเพิ่งบวชไปแค่ อาทิตย์เดียวเอง ...

การนิมนต์พระควรนิมนต์ด้วยความสำรวม และ ใช้เสียงดังพอประมาณ   โยมบางคนเรียกพระด้วยเสียงอันดัง "นิโมนนนน" ตะโกนลั่น มันไม่สำรวมน่ะค่ะ นอกจากนี้ ต้องสังเกตุอายุของพระด้วย ถ้าเป็นพระเด็กๆ ก็ไม่ต้องเรียกหลวงพี่ หลวงน้าอะไรหรอกค่ะ เรียก "ท่าน" ตามปกติไปนี่แหละ ..บางคนไม่ค่อยได้ทำ เขินอาย หรือ ลนลาน พาลกวักมือเรียกเพราะ พร้อมกับเปล่งวาจา จอดๆๆ จอดค่ะ จอด ... อันนี้ก็ไม่ควรเขิล หรือ ลนลานจนเกินเหตุ ศึกษาไว้ จะได้ทราบและพร้อมทำอย่างถูกต้อง ... ครั้งสองครั้งก็คล่องแล้วค่ะ ...

2.จบ 

การจบคือ การยกสิ่งของที่เราจะถวายพระ หรือ ใส่บาตร ขึ้นมาจรดหน้าผาก พร้อมทำการอธิษฐานและควรใช้เวลาอธิษฐานแต่พองาม ไม่ใช่ให้พระท่านยืนเปิดฝาบาตรรอ จนท่านสงสัย โยมอธิษฐานขออะไรหนอ มากมายขนาดท่านต้องคอยนานมาก..

3. ถอดรองเท้า ยืนด้วยเท้าเปล่า

จุดประสงค์ของการถอดรองเท้าคือ การให้ความเคารพพระสงฆ์ โดยการไม่ยืนสูงกว่าท่านเพราะเวลาพระสงฆ์บิณฑบาตรท่านจะเดินเท้าเปล่า (บางท่านปัจจุบันสวมรองเท้า แต่ก็บางๆ เท่านั้น) บางญาติโยมมีไม่เข้าใจ ถอดรองเท้า แต่ก็กลับเอารองเท้ามารองโดยขึ้นไปยืนบนรองเท้าอีกทีซะงั้น  หรือบางโยม ขึ้นไปยืนบนฟุตบาท แต่พระยืนบนพื้นถนน ต่ำกว่าโยมไปเสียงั้น ระวังกันด้วยค่ะ ให้พระท่านไปยืนบนฟุตบาท เราลงมาที่พื้นถนนเถิดค่ะ

4. ใส่บาตร 

มาถึงการใส่บาตรเสียที การใส่บาตร มีสิ่งที่พระท่านชอบเล่าขำๆ เวลาดิฉันไปถวายเพล มีเวลานั่งคุยกับพระ เพราะดิฉันจะถามท่านว่า ใส่บาตรได้มั้ยเจ้าคะ สิ่งนี้ พรุ่งนี้จะได้ใส่ไปพร้อม ไม่เช้่นนั้น จะนำมาถวายทีหลัง ปัจจุบันทุกคนมักมองข้ามว่าสิ่งใดควรใส่บาตร สิงใดๆ เขาไม่ใส่ในบาตรกัน ทั้งโยม ทั้งพระพอกัน ทุกวันนี้ อ้าฝาบาตรพร้อมรับหมด ท่านลืมหรือ ท่านไม่ทราบ ดิฉันก็สุดคาดเดา กับข้าว ข้าว ก็ใสบาตรได้ แต่บางอย่างก็ให้วางบนฝาบาตรแทนค่ะ และวางด้วยความสำรวมค่ะ

5. รับพร 

หลังจากใส่บาตรแล้ว พระสงฆ์ก็จะให้พร เราก็ประนมมือรับตามระเบียบ นั่งคุกเข่า หรือย่อตัวลง หากไม่สะดวกจริงๆ ที่จะปฏิบัติให้ถูกต้อง ก็ยืนประนมมือสำรวม แต่ควรนั่งลงเพื่อจารีตที่สวยงามนะคะ ลูกหลานจะได้ไม่จำไปผิดๆ ...


จบกระบวนการค่ะ ขอให้สาธุชน ตักบาตรกันให้สะดวกสบายใจไม่ขัดเขินนะคะ การสะสมบุญโดยการตักบาตร หลวงพ่อจรัญสอนว่า อย่าไปคิดว่า พระจริง พระเก๊ ...เราตักไปด้วยความตั้งใจดี ก็เป็นบุญเราค่ะ